ทำความรู้จัก อาการและสาเหตุ ข้อเข่าเสื่อม ก่อนจะสายเกินไป

เข่าเสื่อม คือ อาการที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า ทั้งด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้เคียง โดยเมื่อมีการสึกหรอ เสื่อมลง และไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกจึงมีการชนกันขณะรับน้ำหนัก จึงทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด ซึ่งอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากปล่อยไว้นาน จนถึงระดับหัวเข่าผิดรูป และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

สาเหตุของอาการข้อเข่าเสื่อมมักจะเกิดจากความเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย โดยอายุที่เพิ่มมากขึ้นมักเป็นสาเหตุข้อเข่าเสื่อที่พบได้มากที่สุด และมักจะเริ่มพบได้บ่อยในอายุ 40 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นสาเหตุในการเกิดอาการข้อเข่าเสื่อมด้วย เช่น เรื่องเพศ ที่ส่วนใหญ่มักจะพบอาการข้อเข่าเสื่อมในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2 - 3 เท่า เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือจะเป็นจากกรรมพันธุ์ ที่มีความเกี่ยวข้องโดยคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นกว่าคนทั่วไป

รวมไปถึงน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1 - 5 กิโลกรัม อีกทั้งเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะส่งผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูก ทำให้เกิดอาการข้อเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับหากขาดการออกกำลังกาย และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยเร็วขึ้นได้

และการใช้งานข้อเข่าที่มากจนเกินไปก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการใช้ขาหรือหัวเข่าผิดท่าทาง หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น การยืนนานๆ หรือการยกของหนัก การขึ้นหรือลงบันไดบ่อยๆ การก้มยกของ รวมไปถึงท่าทางจากกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมได้ทั้งหมด

ไม่เพียงแต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากร่างกายของเราเพียงอย่างเดียวที่ก่อให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อม แต่ยังมีปัจจัยภายนอกที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การประสบอุบัติเหตุที่ข้อ เส้นเอ็น หรือการบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า จากการทำงานหรือจากการเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระแทกสูงและทำให้มีอาการปวดหัวเข่าซึ่งมีความเสี่ยงก่อให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโรคบางชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้อเข่าเสื่อม เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ข้อเข่าติดเชื้อ ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง โรคที่เกิดกับอวัยวะนอกข้อเข่า รวมทั้งโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ